http://www.google.com

วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การอบรมเพศศึกษา


การอบรมเพศศึกษา เพื่อการเรียนการสอนในสถานศึกษา ซึ่งจัดโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากงบ CEO ที่ห้องลำปลายมาศ โรงแรมเทพนคร อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ ๒๗ - ๒๘ กรกฎาคม  พ.ศ.๕๕๔ โดยมีผู้เข้าอบรม จาก ๒๖ โรงเรียน จำนวน ๔๔ คน จาก  ๑๐ อำเภอ





            นานาปัญหาเรื่องเพศที่เกิดในวัยเรียนและวัยรุ่น ได้ถาโถมเข้าสู่ครอบครัวมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบน การมีเซ็กซ์ในวัยเรียน ท้องโดยไม่พร้อมสำหรับเด็กหญิง ฯลฯเหล่านี้ได้สร้างกระแสจนเกิดการตั้งคำถามขึ้นในหลายแวดวง และนำมาซึ่งการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน เรื่องเพศศึกษาในโรงเรียน ภายใต้กรอบ ชีวิตและครอบครัวศึกษา เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ลองมาฟังทัศนะของคุณทิชา ณ นคร แห่งสหทัยมูลนิธิ ผู้คลุกคลีกับวัยรุ่นมายาวนาน และคุณจิตรา ก่อเกิด จาก กรมวิชาการ ผู้มีส่วนในการปรับหลักสูตรว่าทั้งสองท่านมีมุมมองต่อเรื่องนี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
                                        
ทิชา ณ นคร : สหทัยมูลนิธิ
         " อยากให้สอนเรื่องเพศศึกษาในโรงเรียนมาตั้งนานแล้ว แต่ในแง่วิธีการยังไม่แน่ใจว่ากระทรวงศึกษาธิกาจะทำอย่างไร เพราะที่ผ่านมากระทรวงฯ ก็พูดตลอดว่าได้สอนเรื่องนี้
       " เวลาพูดถึงความไร้เดียงสาที่ทำให้เด็กๆ เพลี่ยงพล้ำคนเป็นครูก็จะลุกขึ้นมาอธิบายประเด็นว่าได้สอนไปแล้ว
       " ที่ผ่านมาเราเห็นว่ามีข้อที่อ่อนด้อยอยู่เยอะ เพราะโดยวิธีการมันไม่กระจ่าง เข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย ไม่ถูกกับจริตของเด็กๆ
       " การสอนควรเริ่มจากชั้นประถม และเริ่มจากที่เป็นธรรมดา คือเรื่องหน้าที่ของร่างกายซึ่งพูดได้ยาวตั้งแต่
ป.1-ป.2 จนถึงชั้นม.ปลาย ก็ยังต้องพูด เพราะหน้าที่ของร่างกายจะเปลี่ยนไปตามวัย เด็กเล็กๆ จะมีข้อสงสัยไม่มีสิ้นสุด ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับร่างกายของเขา เช่น สงสัยว่า ทำไมหูถึงได้ยิน ทำไมอวัยวะส่วนนี้ของเรากับของแม่ไม่เหมือนกัน รวมทั้งไม่เหมือนกับของพ่อด้วย มันเป็นเรื่องธรรมชาติมาก แล้วเราเลือกไม่ได้เลยว่า ข้อสงสัยนี้ให้เว้นวรรคไว้ก่อน
      " เราจะต้องสอนให้เขารู้จักร่างกายตัวเองว่ามีชิ้นส่วนอะไรบ้าง ไว้ทำหน้าที่อะไร บางเรื่องอาจจะเปิดโอกาสให้เด็กได้เป็นคนสร้างโจทย์เองด้วยซ้ำว่า ข้อสงสัยของเขาต่อเรื่องเพศศึกษาอยู่ที่ไหน ไม่ใช่เริ่มต้นจากที่เราว่าเด็กป.1 ควรจะรู้แค่นี้ ป.2 แค่นี้
     " สำหรับดิฉันเอง เวลาทำกิจกรรมกับเด็กๆ ก็จะไม่บอกว่าโจทย์มันเป็นอย่างนี้ แต่จะเริ่มถามว่า เขาสงสัยเรื่องนี้แบบไหนอย่างไร หรืออยากพูดกันในประเด็นไหนบ้าง ความสงสัยที่มาจากตัวเขาจะสะกดให้เขาพร้อมจะฟัง และโต้ตอบกับเรา
     " ในเด็ก ป.1 อาจจะตอบว่า อวัยวะส่วนนั้นๆ จะทำหน้าที่อะไรอย่างตรงไปตรงมา เช่น ตาเอาไว้ดู จู๋เอาไว้ฉี่ ซึ่งเราจะต้องรู้สึกปกติกับอวัยวะทุกส่วนที่ธรรมชาติและร่างกายมีอยู่ ไม่ต้องตกใจ ถ้าเด็กจะลุกขึ้นมาพูดถึงอวัยวะเพศ ซึ่งทำหน้าที่ในการรับรู้ของเขา
     " ก็ไม่ยากที่กระทรวงศึกษาจะกำหนด ดิฉันคิดว่าครูที่สอนเรื่องพวกนี้ต้องมีการเทรนเป็นพิเศษ ทุกคนอาจพูดได้ว่า เนื้อหามันก็ประมาณนี้แหละ แต่โดยลีลา โดยความรู้จักจังหวะจะโคน หรือสร้างอารมณ์บรรยากาศในการพูดคุย ให้มันน่าสนุกสนานและน่าสนใจ ตรงนี้น่าจะมีการเทรนกันโดยเฉพาะ
     " ดิฉันเชื่อว่า คนเป็นครูมีข้อได้เปรียบอยู่อย่างหนึ่ง คือ ผ่านการสอบมานาน เขาอาจมีวิธีเยอะแยะ แต่เฉพาะเรื่องเพศศึกษาบางครั้งมันต้องคิดออกมาจากกรอบเดิมๆ อาจจะต้องใช้ความเข้ากันได้ระหว่างครูกับเด็กๆ ซึ่งไม่ใช่ลีลาที่เป็นครูแท้ๆ เพราะเรื่องบางเรื่องเราอยากให้เด็กได้แสดงความคิด แสดงทัศนะ มุมต่อเรื่องเพศ เพื่อจะได้รู้จักเขาจริงๆ
     " เด็กจะกล้าเปิดสิ่งเหล่านี้กับคนที่เขารู้สึกมีความเป็นมิตรสูงมาก เพราะคำถามเกี่ยวกับเรื่องเพศไม่ใช่วัฒนธรรมไทย ถ้าเด็กลุกขึ้นมาพูดเรื่องเพศ อาจถูกมองเป็นอื่นไปได้
     " หน้าที่ของผู้ใหญ่คือ ต้องช่วยกันทำให้ข้อสงสัยนี้คลี่คลายไปตามวัยตามอายุที่เหมาะสมกับคำตอบต่างๆ




       " โดยหลักสูตรชั้นโตในวันนี้ คงต้องบอกแล้วว่า ร่างกายเราเปลี่ยนแปลงไปภายใต้การทำงานของฮอร์โมน ลึกลงไปกว่านั้น เด็กต้องรู้จักว่าเมื่อร่างกายเปลี่ยนแปลง เขาจะมีอารมณ์ความรู้สึกยังไง ซึ่งตรงนี้โรงเรียนจะพูดแต่ที่เป็นรูปธรรม เช่น สัดส่วน เสียงจะเปลี่ยนไป ผู้หญิงจะมีประจำเดือน จะไม่พูดลงไปว่า เมื่ออายุขนาดนี้อารมณ์ความรู้สึกจะเปลี่ยนไปด้วย เช่น เราจะรู้สึกวูบวาบเมื่อเจอคนถูกใจ หรือเมื่อดูหนังที่มันเร้า ดิฉันว่า เราต้องพูดให้เด็กรู้ว่า เมื่อร่างกายเปลี่ยนแปลงไป เขาจะมีความรู้สึกทางเพศที่มาตามวัย ไม่ใช่สิ่งผิดปกติ
       " แต่สิ่งผิดปกติคือ การไปมีเพศสัมพันธ์โดยที่ปราศจากความรัก ความรับผิดชอบในเวลาอันไม่สมควร
       " การเรียนรู้อย่างนี้จึงจะช่วยให้เด็กเข้าใจตัวเอง รู้จักที่จะอยู่กับเพื่อนต่างเพศ และรู้จักที่จะเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น ต้องทำให้เด็กเห็นว่า เพศสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นมันจะต้องมีเรื่องความรัก ความรับผิดชอบ ซึ่งโดยทั่วไปเด็กที่ท้องนอกสมรสมักจะบอกว่า เขามีแหละ แต่มันยังไม่ถึงความเป็นพ่อแม่ ที่สำคัญมันต้องมีอนาคตด้วย ทั้งของผู้หญิงและผู้ชายที่จะเป็นผู้ใหญ่ต่อไป เราเคยคุยกับเด็กด้วยซ้ำว่า ถ้ารู้สึกมีความต้องการทางเพศจริงๆ เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่มีอะไรผิดเลย"
      
                 จิตรา ทองเกิด : ศูนย์พัฒนาหลักสูตร กรมวิชาการ
       " เดี๋ยวนี้เด็กมีความสัมพันธ์ทางเพศตั้งแต่อายุยังน้อยมาก ทำให้มีเรื่องโรคเอดส์ตามมา เรื่องละเมิด การเบี่ยงเบนทางเพศก็เยอะขึ้น เพราะสังคมมันเปลี่ยน เลยมีการทำวิจัย และได้ผลออกมาว่า ถ้าให้เด็กได้รู้เรื่องนี้อย่างถูกต้อง มีทัศนคติค่านิยมที่ดีจะทำให้เขายืดระยะการมีเพศสัมพันธ์ออกไปได้ เราก็เลยปรับหลักสูตรเสียใหม่ เพราะที่มีอยู่มันไม่เจาะใจเด็ก โดยใช้ชื่อว่า ชีวิตและครอบครัวศึกษา เอาอีคิวและทักษะชีวิตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมาก ตั้งแต่ให้เด็กได้รู้จักว่าตัวเองมีจุดแข็งจุดอ่อนยังไง จนถึงการพัฒนาเอกลักษณ์ของตัวเอง
        " ก่อนหน้านี้ เราก็มีการสอนอยู่บ้าง แต่ไม่เชิงเรื่องเพศศึกษาชัดๆ แต่จะให้เด็กเรียนเรื่องพ่อแม่ ชีวิตในบ้าน ครอบครัวอบอุ่น ฯลฯ ซึ่งอยู่ในหมวดวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา
        " หลักสูตรใหม่นี้ เราจะให้เด็กเรียนใน 6 หัวข้อหลัก คือ เรื่องพัฒนาการทางเพศของมนุษย์ ความสัมพันธ์ พฤติกรรมทางเพศ สุขอนามัยทางเพศ ทักษะที่จำเป็นต่อชีวิต และสังคมและวัฒนธรรม กระจายไปตามชั้นเรียนในเวลา 12 ปี ตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมปลาย
         " อย่าง ป.1-ป.3 จะเรียนแค่รู้ว่า อวัยวะแต่ละส่วนของร่างกายมีชื่อเรียกและมีหน้าที่อย่างไร ให้ขาได้รู้ความแตกต่างทางสรีระภายนอกของเด็กหญิงและเด็กชาย รับรู้ว่ามีอวัยวะสำหรับสืบพันธุ์ ผู้ชายจะมีองคชาต มีอัณฑะ เมื่อก่อนเราไม่กล้าเรียก ส่วนผู้หญิงมีแคมใหญ่ แคมเล็ก ช่องคลอด มดลูก รังไข่ บอกอย่างตรงไปตรงมา
          " พอ ป.4 สูงขึ้น อายุ 9-12 ปี ก็ให้รู้และเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะระบบสืบพันธุ์ทั้งภายใน และภายนอก  เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น รับรู้ว่าทั้งเด็กชายและเด็กหญิงจะมีความรู้สึกที่ดี เมื่อได้รับการสัมผัสส่วนต่างๆ ของร่างกาย




         " พอโตสู่วัยรุ่น เขาจะต้องรู้และเข้าใจความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมระหว่างหญิงชาย รวมทั้งความแตกต่างของบุคคลในเรื่องสรีระ เพราะในวัยนี้ เขาจะเริ่มมีวุฒิภาวะ เริ่มคบเพื่อนต่างเพศ เราก็เริ่มสอนเรื่องความเป็นเพื่อน ตลอดจนเรื่องความรักความใคร่มันต่างกันยังไง เพราะผู้หญิงมักจะคิดในเชิง
โรแมนติก ความรักหวานแหวว ในขณะผู้ชายก็หวังจะฟันลูกเดียว
         " เราจึงต้องให้ผู้หญิงรู้จักระวังเนื้อระวังตัว ระวังความผิดปกติที่มันจะพัฒนาจนไปถึงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันสมควร
         " ที่จริงเรื่องเพศศึกษาเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เริ่มตั้งแต่ที่เราปฏิสนธิในท้องพ่อแม่ ฟูมฟักจนเราคลอดและเติบโต พอโตหน่อยก็เรื่องการวางแผนครอบครัว เหล่านี้เป็นเรื่องเพศศึกษาทั้งสิ้น เป็นเรื่องความงาม เป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องปกปิดลี้ลับเหมือนสมัยก่อน
         " เพราะฉะนั้น ครูจะต้องได้รับการอบรมอย่างเข้มในการถ่ายทอดให้เด็กในเรื่องธรรมชาติ และต้องแจกแจงตามวัย ตามวุฒิภาวะ ตามปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น เด็กผู้หญิงช่วงวัยมีประจำเดือนบางคนว้าวุ่นกังวลมาก ครูก็ต้องรู้จักสังเกตความผิดปกติของเขาวัยนั้น บางทีเขาจะซึมเศร้าเพราะอกหักจากเพื่อน ครูต้องรู้แล้ว ครูจะต้องเป็นนักแนะแนวและเป็นที่ปรึกษาสำหรับเด็ก
         " ปัจจุบันเรื่องนี้เปิดกว้างขึ้นเยอะ เพราะหลายฝ่ายช่วยกันรณรงค์ให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ ครูหลายคนก็สนใจ เราก็จะอบรมครูทั้งในเรื่องเนื้อหา ความรู้ความเข้าใจ วิธีการที่จะสื่อสารกับเด็ก อบรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ให้เด็กร่วมคิดร่วมทำ อบรมการเผชิญสถานการณ์ เช่น มีสถานการณ์อย่างนี้จะมีขั้นตอน 6-7 ขั้นตอนให้ครูรู้วิธีการที่ไปสื่อกับเด็ก เหมือนจะสอนวิธีการตกเบ็ด แทนที่เราจะให้ปลาเขา เราก็ให้วิธีการ ให้เครื่องมือไปตกเบ็ด ซึ่งจะมีรูปแบบต่างๆ เพราะครูแต่ละคนมีพื้นฐานที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถมีวิธีการแบบสำเร็จรูปได้
          " เมื่อก่อนเราเคยให้แบบเรียนสำเร็จรูปไป แล้วก็เป็นแท่งๆ ตรงๆ พอหมดจากแบบเรียนก็ไม่รู้จะสอนอะไร ตอนนี้เราก็เลยต้องสอนเครื่องมือให้กับครู ให้เป็นทักษะกระบวนการแทนที่จะให้ความรู้อย่างเดียว
          " การจะสอนในเรื่องนี้ ก่อนอื่นต้องรู้เขารู้เรา ครูกับนักเรียนต้องมาวางแผนร่วมกันว่า วันนี้จะเรียนอะไร และที่สำคัญคือ ครูต้องรู้ข้อมูลพื้นฐานของผู้เรียน จากแบบประเมินตนเอง แบบอะไรต่างๆ ให้เขาเช็ก หรือทำแบบสอบถาม เช่น เมื่อคืนมีอะไรบ้างที่ติดค้างอยู่ในใจ ให้เด็กเล่า แล้วครูวิเคราะห์ กระทั่งจำแนกได้ว่าใครสนใจเรื่องอะไร พอได้แล้ว ครูก็จะเอาข้อมูลเหล่านี้มาเริ่มสอน แบ่งกลุ่มตามความสนใจ



          " การสอนจึงต้องมีทั้งในห้องเรียน ตามลักษณะกิจกรรม และต้องสอนข้างนอกด้วยตามพฤติกรรมที่เราเห็น อย่างกรมวิชาการเคยทำวิดีโอชุดหนึ่ง โดยใช้ข้อมูลจากการเรียนและชีวิตจริงๆ ของเด็กในโรงเรียน เราจะทำในลักษณะกลุ่ม ทุกวันพุธจะให้เขามาคุยกัน ลักษณะแบบเพื่อนช่วยเพื่อนหรือลักษณะผู้นำ ให้เด็ก 1 คน เป็นหัวหน้าทีมต่อเพื่อน 20 คน เขาจะมาคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นที่สนใจ เราก็ได้เรื่องมาทำวิดีโอ 10 เรื่อง อย่างมีเรื่องหนึ่ง เขามาเล่ากันว่า เด็กผู้หญิงรุ่นโตชวนเพื่อนรุ่นน้องไปทานข้าวกับผู้ชาย แล้วใส่ยาในอาหาร จนในที่สุด เด็กคนนั้นก็ไปขายตัว ในขณะบางคนก็มีท้องขณะเป็นนักเรียน ต้องออกจากโรงเรียน เหล่านี้เป็นปัญหาที่จะทำให้เด็กฉุกคิด
       " ปัญหาอย่างนี้ครูต้องเอามาเล่า และต้องสอนในสิ่งที่เด็กสนใจ สอนตามปัญหาที่เด็กมี บางทีเขาอยากรู้ แต่ไม่รู้จะไปถามใคร ถามพ่อแม่ก็ไม่ได้ ก็ต้องมาถามครู ซึ่งตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นครูวิชาสุขศึกษา ครูแนะแนว หรือครูประจำวิชาที่เข้าถึงเด็ก ทุกคนสามารถสอนเพศศึกษาได้ทั้งนั้น แต่จะต้องได้อบรมในการที่จะสอนเรื่องนี้อย่างแท้จริง ซึ่งการสอนก็จะมี 2 ลักษณะ คือสอนโดยตรงกับสอนสอดแทรกในเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง เช่น ศีลธรรม เราก็สามารถสอดแทรกเรื่องละเมิดศีลข้อ 3 ลงไปได้
      " เชื่อว่าวิธีการที่เราจัดวางหลักสูตรอย่างนี้ จะทำให้เด็กดีขึ้นทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม เพราะเขาจะรู้จักและเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้น เด็กผู้ชายจะรู้จักเห็นอกเห็นใจเพื่อนผู้หญิง มีโอกาสก็จะไม่คิดฟันเขาท่าเดียว รู้จักมารยาท ในขณะที่เด็กผู้หญิงจะรู้จักคบเพื่อนอย่างเหมาะสม เพราะการที่เขาได้ฝึกทักษะการคิด การตัดสินใจ การแก้ปัญหาในกระบวนการเรียนการสอน มีผลที่ทำให้เขารู้จักตัดสินใจ รู้จักพูดคุยกับเพื่อน รู้จักปฏิเสธ การโน้มน้าวจิตใจ หรือการเบี่ยงเบนพฤติกรรมของเขาก็ย่อมจะดีขึ้น
        การที่เขามีเจตคติที่ดีต่อตนเอง ต่อเพื่อน ต่อวิชาที่เรียน ก็ทำให้เขามีความสุขมากขึ้น"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น